BY : siepteam | www.sirindhornpark.or.th | 032-508352 |

11 มกราคม 2553

| issue 21 (สวนแนวตั้งยั้งสารพิษ)



สวนแนวตั้ง
โดย : วลัญช์ สุภากร

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบ้าน และที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินจินตนาการ ของนักคิดกลุ่มนี้ซึ่งนำผลงาน-->
gg
การออกแบบ สวนแนวตั้ง (Vertical Garden) ในพื้นที่จำกัดไปจัดแสดงเพื่อประกวดในงาน 'บ้านและสวนแฟร์ 2009' เช่นตัวอย่างสวนซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า Local Rotate สวนที่มีสไตล์ขนาด 6-8 ตารางเมตรรูปแบบนี้สร้างขึ้นตามแนวคิดที่เล่าถึงความต้องการของชีวิตคนเมืองที่เติบโตมาจากต่างจังหวัด กลางทุ่งนา เมื่อมาอยู่ในเมืองก็ยังคงต้องการพื้นที่ที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ นั่นคือมีความพอเพียง มีความอบอุ่น ปลอดภัยและเป็นกันเอง
ggg
แต่ด้วยความที่พื้นที่ในเมืองหลวงมีน้อย ต่างจากบ้านเกิด จึงต้องประยุกต์พื้นที่สวนที่คุ้นเคยนั้นให้เหมาะกับพื้นที่ในเมือง โดยการขยายมิติการรับรู้จากพื้นที่ราบไปสู่ แนวตั้ง มีการนำสิ่งของเครื่องใช้ที่เคยเห็นบ่อยในวัยเด็ก องค์ประกอบของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงที่บ้านเกิด มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสวนแนวตั้งแห่งนี้
ggg
การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงที่บ้านเกิดรูปแบบหนึ่งคือ มีการปลูกผักกินเองที่หลังบ้าน กลายเป็นแรงบันดาลใจในการใช้พืชผักสวนครัวทำเป็นสวนแนวตั้ง จากที่เคยปลูกผักเป็นแปลงยาวๆ ไปตามพื้นดิน ก็ยกแปลงผักขึ้นในแนวตั้ง นอกจากให้ความรู้สึกที่คล้ายกับบ้านในต่างจังหวัด ยังสามารถนำผักไปรับประทานได้ด้วย
ggg
นอกจากปลูกผักสวนครัวแล้ว ภาชนะที่ใช้ปลูกผักยังทำให้สวนแห่งนี้สวยงามแปลกตาด้วยการใช้ ชะลอมไม้ไผ่สาน ซึ่งทำให้เกิดลวดลายและเส้นสายราวกับงานหัตถกรรมซึ่งประดับอยู่บนผนัง คุณ ญาดา อัยศิริ นิสิตคณะภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งออกแบบสวนแห่งนี้ร่วมกับเพื่อนอีกสามคน ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยมีเครื่องจักสานที่งดงาม มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ประเทศอื่นไม่มี แต่ปัจจุบันไม่ค่อยได้นำมาใช้ประโยชน์ เกรงว่าจะหายากขึ้นเรื่อยๆ หรือสูญหายไป จึงอยากเสนอแนวคิดให้ร่วมกันอนุรักษ์ โดยการนำมาใช้ประโยชน์แทนกระถางต้นไม้ แทนที่จะใช้ถุงดำหรือเมื่อซื้อต้นไม้ขนาดเล็กมาแล้ว ให้ถอดถุงดำออก แล้วปลูกต้นไม้หรือผักสวนครัวในถุงกระสอบแทนถุงดำ เพื่อให้น้ำซึมออกได้ แล้วนำถุงกระสอบไปใส่ไว้ในชะลอมไม้ไผ่อีกที จริงอยู่ชะลอมไม้ไผ่มีอายุการใช้งานจำกัด เมื่อเปื่อยยุ่ยย่อยสลายไปตามธรรมชาติก็ไม่สร้างมลภาวะ ขณะเดียวกันการซื้อชะลอมไม้ไผ่ทดแทนก็ช่วยให้งานหัตถกรรมลักษณะนี้คงอยู่ต่อไปเพราะมีตลาดต้องการ
ผักสวนครัวที่ในสวนลักษณะนี้ปลูกได้ตั้งแต่ สะระแหน่ โหระพา กะเพรา ตะไคร้ ฯลฯ แซมด้วยผักสวยๆ อย่างปูเล่และหนวดปลาดุก แม้ต้นไม้ที่ปลูกจะเป็นพืชผักสวนครัว แต่สวนครัวนี้ก็ดูร่วมสมัยไม่น้อย เนื่องจากการจัดวางที่เล่นลายเรขาคณิตและมีจังหวะช่องไฟ
ggg
พื้นที่ที่เลือกทำสวนลักษณะนี้ คุณญาดาแนะนำให้ลองพิจารณาพื้นที่ข้างรั้วที่ไม่มีการใช้งานก็ได้ โดยตกแต่งให้คล้ายคลึงกับชานบ้านไทย มีความอเนกประสงค์ สามารถใช้นั่งรับประทานอาหาร เป็นพื้นที่รวมสมาชิกในบ้าน เป็นการนำพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานแปรเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นของบ้านได้ทางหนึ่ง
ggg
สวนอีกลักษณะหนึ่งที่มีความน่าสนใจในตัวเองคือ สวน Green for Health สวนบนพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ออกแบบขึ้นเพื่อช่วยให้เจ้าของสวนห่างไกลจากพิษภัยของ สารพิษที่อยู่ในบ้าน โดยเจ้าของบ้านหรือผู้ทำงานในอาคารสำนักงานอาจคิดไม่ถึงเนื่องจากมองไม่เห็น
jjj
การใช้ชีวิตปัจจุบันต้องอาศัยเครื่องอุปโภคบริโภคมากมาย ซึ่งทำจากวัสดุต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น พลาสติก วัสดุเคลือบผิวของใช้ต่างๆ ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้แต่วัสดุก่อสร้างอย่างไม้ ฉนวนกันกระแสไฟฟ้า พรม สิ่งทอ ฯลฯ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของที่มาของสารพิษในอากาศในรูปแบบของ 'ไอ' และ 'ละออง' ภายในอาคารบ้านเรือนพบสารที่เหมือนผู้ร้ายจำนวน 3 ตัว คือ ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldyhyde) ไตรคลอโรเอทธิลีน (TCE) และ เบนซิน มากที่สุด
jjj
ฟอร์มัลดีไฮด์: ใช้อย่างกว้างขวางกับวัสดุก่อสร้างและสิ่งตกแต่งภายใน วัสดุที่เป็นแหล่งที่มาของฟอร์มัลดีไฮด์ที่สำคัญได้แก่ ไม้อัดและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้อัด โฟมที่ใช้ทำฉนวนกันความร้อน ผลิตภัณฑ์กระดาษไฟเบอร์กลาส ผ้าม่านและพรมปูพื้น รวมทั้งใช้เป็นส่วนผสมของสารเคลือบผิวเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะตู้ต่างๆ และพื้นผนังที่ทำด้วยไม้ สารตัวนี้มีผลก่อให้เกิดอาการตั้งแต่ ระคายเคืองต่อผิวหนังและตา ปวดศีรษะ ไปจนถึงที่ร้ายที่สุดคือ โรคหอบหืด
ggg
ไตรคลอโรเอทธิลีน: พบในตัวทำละลายเป็นส่วนมาก เช่น การซักแห้ง หมึกพิมพ์ สีทา แล็กเกอร์ น้ำมันซักแห้ง กาวสังเคราะห์ต่างๆ สารตัวนี้ก่อให้เกิดการระคายเคือง ในปี พ.ศ.2518 สถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกา รายงานว่าหนูที่ได้รับ TCE เป็นจำนวนมาก มีอาการมะเร็งตับสูงมาก และต่อมาได้จัดอันดับว่า TCE เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับ
ggg
เบนซิน: นอกจากพบในน้ำมันรถยนต์ ยังพบในวัสดุสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น หมึก สีทาพลาสติก ยาง เบนซินเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังและดวงตา หากมีการสูดดมในปริมาณมากในทันทีจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ตัวสั่น เกิดโรคทางเดินหายใจ เป็นสารที่ก่อให้เกิดลูคีเมีย ต่อมาพบว่าสารตัวนี้ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซมของมนุษย์
ggg
เมื่อเราต้องใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งของที่เสี่ยงต่อ 'ไอและละออง' ของสารพิษข้างต้น วิธีบำบัดหรือลดอันตรายจากสารพิษในบ้านในและที่ทำงานที่ดีวิธีหนึ่งคือ การปลูกต้นไม้ มีต้นไม้หลายชนิดที่ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศ เช่น
1. พลูด่าง สามารถขจัดสารฟอร์มัลดีไฮด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ดี
2. เดหลี ใบเขียวเข้มเป็นเงาวาว ดอกสีขาว (หรือขาวแกมเหลือง) คล้ายดอกหน้าวัว เป็นไม้ที่คายความชื้นสูงและมีความสามารถในการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มัลดีไฮด์และไตรคลอโรเอทธิลีนได้ดี
3. กวักมรกต ไม้ใบสวย ช่วงแตกใบอ่อนม้วนซ้อนกันเหมือนกลีบดอกไม้ มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศได้ดี ช่วยเพิ่มออกซิเจน
4. เยอบีร่า ไม้พุ่มลำต้นอยู่ใต้ดิน ให้ดอกสีสันสวยสดใส ใบสีเขียวสดแตกเป็นแฉก ดูดสารพิษจำพวกไตรคลอโรเอทธิลีนและสารเบนซินได้ดี
5. ตีนตุ๊กแกฝรั่ง ไม้เลื้อยที่นิยมปลูกให้ทอดคลุมกำแพง มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจำพวกเบนซินและมีคุณสมบัติฟอกอากาศได้ดี สิงคโปร์นิยมใช้ปลูกคลุมเสาคอนกรีตรับสะพาน
6. บอสตันเฟิร์น ช่วยทำความสะอาดอากาศภายในอาคารได้ดีชนิดหนึ่ง ดูดสารพิษได้มากโดยเฉพาะพวกฟอร์มาลดีไฮด์ที่มาจากกาวและฝ้าเพดานสำเร็จรูป แต่เป็นไม้ที่ต้องการความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ จึงต้องหมั่นรดน้ำหรือฉีดพ่นด้วยละอองน้ำ
7. ลิ้นมังกร ขจัดสารเบนซินได้ดีและมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอาคาร หลายคนเรียกไม้ชนิดนี้ว่า 'หอกพระอินทร์' จึงนิยมปลูกไว้ประจำบ้าน เชื่อว่าช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอกได้ตามชื่อที่หมายถึงอาวุธชนิดหนึ่งของพระอินทร์
8. เศรษฐีเรือนใน ไม้ประดับที่ดีชนิดหนึ่งในการดูดสารพิเศษในอาคาร การทดลองของ Wolverton ได้ผลว่าดูดคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ 96% และฟอร์มาลดีไฮด์ 86% เป็นไม้ประดับชนิดแรกๆ ที่ได้รับการเผยแพร่จากองค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ว่ามีคุณสมบัติในการดูดสารพิษภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
การสร้าง สวน Green for Health ที่ช่วยขจัดสารพิษและฟอกอากาศที่สะอาดให้เรา ภายในอาคารซึ่งมีพื้นที่จำกัด
ggg
ผู้จัดสวนออกแบบเป็นสวนแนวตั้ง ส่วนมากใช้ 'วัสดุอุปกรณ์เหลือใช้' เป็นส่วนประกอบ เช่น กระบะไข่ที่ใช้แล้ว (หรือชำรุด) นำมาเป็นภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ และใช้ ใยมะพร้าว ที่เหลือจากการปอกมะพร้าว รวมกับ แกลบ ที่เหลือจากการสีข้าวและผสมกับ ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัตถุดิบในการปลูก
fff
การให้น้ำ ใช้หลักการเก็บน้ำกักน้ำไว้บริเวณกระบะปลูกพลูด่างด้านบน เป็นน้ำที่มาจากน้ำทิ้งเครื่องปรับอากาศในส่วนห้องนอนด้านบน ถ้าน้ำมีปริมาณมากก็จะล้นกระบะด้านบนไหลลงมายังกระบะด้านล่าง รวมถึงไหลไปยังท่อไม้ไผ่ที่มีการเจาะรูสำหรับให้น้ำต้นไม้ชนิดอื่นๆ ในส่วนน้ำที่ไหลลงสู่ด้านล่างจะมีกระบะขนาดใหญ่ใช้รับน้ำและมีปั๊มน้ำขนาดเล็กสำหรับดูดน้ำกลับไปยังกระบะพลูด่างด้านบนในบางเวลาที่ไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศ และกระบะรับน้ำด้านล่างนี้ยังเตรียมช่องน้ำล้นเข้าสู่ระบบน้ำทิ้งของบ้านในกรณีน้ำมีปริมาณมากเกินไป สวน Green for Health นี้ร่วมกันออกแบบโดยธีรพงษ์ ชำนิ, รุ่งรดิศ พวงแก้ว, ศิริพงศ์ ทรัพยาคม, ชูเกียรติ แซ่ลิ้ม สามารถนำไปติดตั้งบริเวณส่วนระเบียงพักผ่อน ส่วนรับแขกที่ไม่ปรับอากาศ หรือชานบ้านของคนทั้งครอบครัว มีคุณค่ามากกว่าความสวยงาม
การปรับพื้นที่แนวตั้งมาทำเป็นสวน เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยลดอุณหภูมิความร้อน และฟอกอากาศในบริเวณนั้นได้เป็นอย่างดี
kkk
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธรถกิจ
siepteam thanks
kkk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น